top of page
Writer's pictureเกื้อกูลLEs

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยห่วงโซ่คุณค่าปลาลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์

Updated: Aug 8, 2023

เกื้อกูลLKMs ผศ. ปิยวรรณ ปาลาศ นักจัดการความรู้ในพื้นที่ (Local Knowledge Manager)

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์



"...โครงการนี้ก็ทำให้นักวิจัยเองได้เรียนรู้กระบวนการประกอบธุรกิจจากผู้ประกอบการตัวจริง ทำให้นักวิจัยตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชินมาก่อน ทำให้นักวิจัยเข้าใจมากขึ้น มองเป็นระบบมากขึ้น แทนการมองแบบเน้นไปจุดใดจุดหนึ่ง มองปัญหาภาพรวมให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้หลงอยู่กับปัญหาต้นน้ำ..."

ห่วงโซ่ของธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง

เราไปคลี่ภาพห่วงโซ่ของธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังก่อน ว่าเกี่ยวข้องกับใครบ้าง แล้วเราก็มาดูว่าใครน่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะมาช่วยเกษตรกรให้มีรายได้เพื่มมากขึ้น ซี่งเราพบว่าแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาการทำอาชีพเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังให้ดียิ่งขึ้นคือ “จุดที่เป็นตลาด” ถ้ามีตลาดรับซื้อที่แน่นอน มีความเป็นธรรม จะทำให้ธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังมั่นคงได้ สามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ แต่นักวิจัยต้องกลับมาดูว่าจะเพิ่มความสามารถยังไง จากการที่นักวิจัยได้ลงไปวิเคราะห์ ทั้งในเรื่องของการผลิต การเงิน การบริหารความเสี่ยง แล้วก็เรื่องการตลาด

กระบวนการทำงานของ โครงการวิจัย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยห่วงโซ่คุณค่าปลาลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์


ฝายชะลอเงินออก (จากพื้นที่)

สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง เราจะดูว่ามีเงินเข้าเงินออกอย่างไร จะทำให้เงินนั้นอยู่ในพื้นที่นานขึ้นได้อย่างไร อย่างเรื่องของลูกปลาปกติผู้ประกอบการจะซื้อมาจากต่างจังหวัด นักวิจัยเองก็มองว่า จุดนี้สามารถเกิดอาชีพใหม่ในพื้นที่ได้ อาชีพการอนุบาลลูกปลาเพื่อส่งต่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง นั่นแสดงว่าอาชีพนี้จะเป็นหนึ่งข้อต่อใหม่ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ของธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง สร้างการหมุนเวียนของเงิน เป็นฝายชะลอไม่ให้เงินไหลออกนอกพื้นที่


นอกจากนี้ยังเกิดข้อต่ออื่นๆ อย่างเช่นเรื่องของปลาตายซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการจะทิ้งหรือขายให้แม่ค้าต่างจังหวัดเพื่อนำไปหมักเกลือแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งนักวิจัยเองก็มองว่าหากคนในพื้นที่สามารถจัดการตรงนี้ได้ก็จะเกิดอาชีพใหม่ในห่วงโซ่ของธุรกิจเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ซึ่งตอนนี้ข้อต่อต่างๆ ที่นักวิจัยกำลังคลี่ภาพ อยู่ในกระบวนการออกแบบเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษรฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยห่วงโซ่คุณค่าปลาลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์อีกด้วย


ภาพสะท้อนการทำงาน

การที่นักวิจัยให้ข้อมูลชุดความรู้กับผู้ประกอบการ จะเกิดการตื่น ตระหนักรู้ของผู้ประกอบการเอง ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการนำไปวิเคราะห์ วางแผนกับธุรกิจของตนเอง อย่างเช่นผู้ประกอบการต้องเลี้ยงปลาทับทิมให้ได้ขนาดน้ำหนัก 7 ขีด ซึ่งเป็นขนาดที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน นักวิจัยก็หาข้อมูลความรู้เพิ่มและชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ปลาขนาดน้ำหนัก 5-6 ขีด ก็เป็นที่ต้องการของกลุ่มตลาดรถพุ่มพวงเช่นกัน ซึ่งจากขนาดน้ำหนักดังกล่าวผู้ประกอบการสามารถลดเวลาและลดต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงปลาได้อย่างมหาศาล


ในขณะเดียวกันโครงการนี้ก็ทำให้นักวิจัยเองได้เรียนรู้กระบวนการประกอบธุรกิจจากผู้ประกอบการตัวจริง ทำให้นักวิจัยตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชินมาก่อน ทำให้นักวิจัยเข้าใจมากขึ้น มองเป็นระบบมากขึ้น แทนการมองแบบเน้นไปจุดใดจุดหนึ่ง มองปัญหาภาพรวมให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้หลงอยู่กับปัญหาต้นน้ำ ซึ่งทำให้นักวิจัยเห็นว่าไม่สามารถทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้เร็วพอ

20 views0 comments

Comments


bottom of page