top of page

มีปลา มีงาน มีกันพร้อมหน้า ชวนกลับบ้านด้วยปลากะพงปลากะพงขาวในกระชัง บ้านอ่าวมะนาว จังหวัดนราธิวาส


…กว่าจะได้ขายปลากระชังแรกได้ การเลี้ยงปลากะพงต้องผ่านบททดสอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาที่เจริญเติบโตได้ไม่ดี ปลาไม่ยอมกินอาหาร อาหารปลาไม่มีคุณภาพ ไปจนถึง “น้ำจืดลงกระทันหัน” ที่เกิดจากหลายสาเหตุอย่างเช่น ปริมาณน้ำฝนที่ไหลรวมลงแม่น้ำ หรือ ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งมีการระบายน้ำจืดลงสู่แม่น้ำมากเกินไป ทำให้น้ำกร่อยกลายเป็นน้ำจืดกระทันหัน  ถึงแม้ว่าปลากะพงจะเป็นปลาทะเลที่สามารถอาศัยได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืดก็ตาม เมื่อมีน้ำจืดเข้ามาปนมากขณะปลาขึ้นมากินอาหารที่ผิวน้ำก็จะเกิดภาวะเครียดและตายในที่สุด…

อาซียะห์ พละอาแน (ซ้าย) และ กะตี สแม (ขวา) ผู้ประกอบการปลากะพงในกระชัง จังหวัดนราธิวาส


ก่อร่างสร้างปลา

แม่กะตี สแม เป็นผู้ประกอบการปลากะพงขาวในกระชัง เล่าให้ฟังว่า บ้านอ่าวมะนาวตั้งอยู่ที่บริเวณปากแม่น้ำบางนรา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำประมง แต่คนหนุ่ม สาว ในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ต้องออกไปทำงานต่างถิ่นเนื่องจากไม่มีอาชีพมั่นคงให้ทำในพื้นที่ ทำให้ชุมชนเงียบเหงา คนที่อยู่ในพื้นที่ก็จะมีเพียงคนแก่ เฒ่า และ เด็กๆ วัยรุ่น ซึ่งก็ต้องการสร้างรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แม่กะตีเองเลี้ยงปลาในกระชังยึดเป็นอาชีพมากว่า 30 ปี  ลองผิดลองถูกกันมาหลายรูปแบบ โดยสามารถสร้างรายได้จากการนำมาขายเป็นปลากะพงสดกิโลกรัมละ 130-140 บาท ซึ่งในกระชังก็มีหลากหลายขนาดตั้งแต่ 500 กรัม ไปจนถึง 3 กิโลกรัมต่อตัว สวนที่เป็นปลากะพงแร่เอาเฉพาะเนื้อก็จะขายได้ราวๆ 300 บาทต่อกิโลกรัม ปลากะพงบางส่วนถูกนำไปแปรรูปเป็นกรือโป๊ะหรือข้าวเกรียบปลากะพงและลูกชิ้นปลาได้อีกด้วย


น้ำจืดมา ทำปลาตาย

แม่กะตี เล่าอีกว่ากว่าจะได้ขายปลากระชังแรกได้ การเลี้ยงปลากะพงต้องผ่านบททดสอบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลาที่เจริญเติบโตได้ไม่ดี ปลาไม่ยอมกินอาหาร อาหารปลาไม่มีคุณภาพ ไปจนถึง “น้ำจืดลงกระทันหัน” ที่เกิดจากหลายสาเหตุอย่างเช่น ปริมาณน้ำฝนที่ไหลรวมลงแม่น้ำ หรือ ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งมีการระบายน้ำจืดลงสู่แม่น้ำมากเกินไป ทำให้น้ำจืดลงกระทันหันและไม่ไหลเวียน ถึงแม้ว่าปลากะพงจะเป็นปลาทะเลที่สามารถอาศัยได้ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืดก็ตาม เมื่อมีน้ำจืดเข้ามาปนมากขณะปลาขึ้นมากินอาหารที่ผิวน้ำก็จะเกิดภาวะเครียดและตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีเรื่องสภาพอากาศที่ร้อนเกินไปทำให้อุณหภูมิน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้สาหร่ายตายและส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลให้ค่าออกซิเจนในน้ำลดลงและทำปลาตายได้เช่นกัน


สู้กันอีกรอบ

ในช่วงแรกทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เข้ามาให้ความรู้และสนับสนุนโดยการนำถังออกซิเจนมาช่วยเติมอากาศในแต่ละกระชังทำให้ลดปริมาณการตายได้ส่วนหนึ่ง จนได้มีการจัดการประชุมระหว่างชุมชนผู้เลี้ยงปลากระชังกับผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลนราธิวาส ทำข้อตกลงเรื่องการปล่อยน้ำจืดลงแม่น้ำบางนรา โดยมีข้อกำหนดให้หากมีการปล่อยน้ำจืดลงแม่น้ำให้มีการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า เพื่อกระจายข่าวสารให้ชุมชนผู้เลี้ยงปลากระชังได้เตรียมพร้อมและงดให้อาหารปลากะพง ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือที่ประสบความสำเร็จทำให้ปริมาณการตายของปลาลดลงเป็นอย่างมาก น้ำดี ปลากินจุ แม่กะตีก็ยิ้มได้และพัฒนาต่อ


อาซียะห์ พละอาแน นักกระจายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลากะพงของวิสหากิจชุมชน

 

ข้อต่อคนสำคัญของกระชังปลากะพงแม่กะตี

อาซียะห์ พละอาแน หรือ น้องมี่ นักกระจายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลากะพง น้องมี่เล่าว่าเดิมทีอยู่ในพื้นที่และไม่มีอาชีพ ต้องการหารายได้ จึงได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในวิสาหกิจชุมชนของแม่กะตี โดยมีส่วนช่วยในส่วนการแปรรูปกรือโป๊ะและลูกชิ้นปลากะพง น้องมี่เองมองเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนมีคุณภาพดี จึงเริ่มนำกรือโป๊ะและลูกชิ้นปลากะพงของวิสาหกิจไปขายสร้างรายได้เสริมหลังเลิกงาน ซึ่งผู้คนก็เริ่มสนใจด้วยคุณภาพและราคาย่อมเยา คนในชุมชนที่มีรายได้น้อยก็สามารถซื้อกินได้

เริ่มมีลูกค้ากลับมาซื้อกรือโป๊ะและลูกชิ้นปลากะพงซ้ำ คนเดิมซื้อซ้ำวันละหลายรอบเลย… น้องมี่บอกกับเราพร้อมยิ้มกว้างอย่างภูมิใจ จากคนไม่มีงาน ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ วันนี้มองเห็นอนาคตและพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นนักขายมืออาชีพ

มีปลา มีงาน มีกันพร้อมหน้า

แม่กะตีคิดว่า หากมีก็พัฒนาการเลี้ยงปลากะพงให้มีคุณภาพมากขึ้น มีคนซื้อมากขึ้น ก็ต้องมีคนเลี้ยงมากขึ้น จึงอยากทำให้เห็นว่าการเลี้ยงปลากระชังสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับคนในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น จึงเริ่มชักชวนคนในชุมชนให้หันมาเลี้ยงปลากระชังสร้างรายได้ ตอนนี้ที่ชุมชนมีคนเลื้ยงปลากะพงกว่า 30 ครอบครัว โดยเฉลี่ยจะมีครอบครัวละ 2-6 กระชัง หนุ่ม สาว วัยรุ่น ก็มีงานทำที่กระชังปลามากขึ้น จากเมื่อก่อนที่มีการออกไปมั่วสุม ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นการออกไปเรียนรู้ พัฒนาตนเอง เพื่อกลับเลี้ยงดูปลากะพงให้ได้คุณภาพดีต่อไป แม่กะตีก็ได้คาดหวังว่าผู้คนจะกลับคืนถิ่น มาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชีวิตให้กับชุมชน

หนุ่ม สาว วัยรุ่น ก็มีงานทำที่กระชังปลามากขึ้น จากเมื่อก่อนที่มีการออกไปมั่วสุม ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นการออกไปเรียนรู้ พัฒนาตนเอง เพื่อกลับเลี้ยงดูปลากะพงให้ได้คุณภาพดีต่อไป


20 views0 comments

© 2020 สถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน
Institute for Local Economy Foundation

bottom of page