top of page

เกษตรกรนักทำมา(และ)ค้าขาย(เป็น)

ร้านชุมชนดีมีรอยยิ้มบ้านห้วยปลาดุก แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

เราแบ่งผลผลิตจากการส่งให้พ่อค้าคนกลาง 5-10% มาวางขายที่ร้านค้าชุมชนที่เราสามารถกำหนดราคาขายเองได้ โดยขายผลผลิตให้กับคนในชุมชนและคนที่สัญจรไปมา ถึงแม้รายได้จะยังเป็นส่วนต่างจากการขายส่งให้พ่อค้าคนกลางไม่มาก แต่เราก็พอเห็นภาพแสงสว่างในการเพิ่มเงินในกระเป๋าของเราได้

ปัญหาที่แท้จริง ชุมชนบ้านห้วยปลาดุกของเรามีอาชีพเกษตรกรที่ผลิตพืชผักเพื่อขายให้กับพ่อค้าคนกลาง พอทำนานเข้ากลับพบว่าไม่มีเงินเก็บและมีแต่หนี้สิน เราได้แต่ตัดพ้อโทษพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อผลผลิตในราคาถูก พอตั้งสติได้จึงเริ่มกลับมาคิดถึงปัญหาที่แท้จริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ระดมความคิดจากเพื่อนสมาชิกแล้วหันมาลองลดต้นทุนการผลิตพืชผักโดยการทำปุ๋ยชีวภาพใช้เองในกลุ่มที่มีสมาชิกราว 20 ครัวเรือนโดยใช้วิธีหุ้นกันในกลุ่มเดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือน แล้วเรานำเงินที่ได้ลงทุนกับการรวบรวมวัตถุดิบตั้งต้นในการทำปุ๋ยชีวภาพซึ่งประกอบด้วยขี้วัว รำข้าว กากน้ำตาล ขี้ปลาและหัวปลา จากแพปลาที่เขื่อนแก่งกระจาน นำมาผลิตจนสำเร็จและแบ่งกันใช้ภายในกลุ่ม


น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เวลาผ่านไปหนึ่งปีสมาชิกในกลุ่มที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพก็ไม่สามารถต้านทานกระแสการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่โดยรอบได้ ก็หันกลับไปใช้ปุ๋ยเคมีดังเดิมเพราะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์สวยงามต่างจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เราเลยต้องย้อมกลับมาทบทวนการแก้ปัญหาการไม่มีเงินเก็บและปัญหาหนี้สินอีกครั้ง ระดมความคิดจากเพื่อนสมาชิกแล้วมาลงเอยที่การทำร้านค้าชุมชนดีมีรอยยิ้มบ้านห้วยปลาดุก ให้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรได้ฝึกการ ทำมาค้าขาย เพื่อลดการขายส่งผลผลิตลง


ลดสัดส่วน เพิ่มแสงสว่างชีวิต เราแบ่งผลผลิตจากการส่งให้พ่อค้าคนกลาง 5-10% มาวางขายที่ร้านค้าชุมชนที่เราสามารถกำหนดราคาขายเองได้ โดยขายผลผลิตให้กับคนในชุมชนและคนที่สัญจรไปมา ถึงแม้รายได้จะยังเป็นส่วนต่างจากการขายส่งให้พ่อค้าคนกลางไม่มาก แต่เราก็พอเห็นภาพแสงสว่างในการเพิ่มเงินในกระเป๋าของเราได้



จับมือไม้แล้วเดินไปด้วยกัน เราเกิดที่นี่โตที่นี่เราได้เห็นความยากจนของคนรอบข้างมาโดยตลอด ความยากจนของเราหมายถึงการไม่ได้พัฒนาทักษะในอาชีพของตัวเอง ประกอบอาชีพโดยใช้ความคุ้นชินแบบเดิม เราจึงมองว่านี่เป็นการไขก๊อกเติมความยากจนลงไปอีก จึงอยากหาทางขึ้นจากบ่อแห่งความยากจนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเราคนเดียวไม่สามารถจัดการได้ จึงต้องอาศัยคนรอบข้างร่วมมือกับเราด้วย โดยเราเริ่มจากการปรึกษากับคุณแม่ถึงการเปลี่ยนความยากจนในครั้งนี้ จากนั้นคุณแม่ก็เริ่มชักชวนคนอื่นๆ ที่เห็นด้วย เราก็เกิดพลัง พลังในการออกไปหาความรู้เพื่อกลับมาพัฒนาร้านค้าชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ มีความสุขเพิ่ม ไม่ต้องมากังวลว่าพรุ่งนี้จะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้สินหรือใช้กินอยู่

เมื่อเราได้ชุดความรู้จากกิจกรรมของธุรกิจปันกัน ทำให้เรามองเห็นเส้นทางการเงินของธุรกิจร้านค้าชุมได้อย่างชัดเจน ทั้งกระแสเงินเข้า กระแสเงินออก ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินของกลุ่มได้ หรอแม้กระทั้งการจัดการการเงินในครัวเรือนเราก็เห็นสภาพคล่องของตัวเอง จะเพิ่มหรือจัดการปัญหาตรงไหนก็มองได้ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดเป็นพลังความมั่นใจของเราไปอีกขั้น เพราะเราเห็นความเติบโตของธุรกิจร้านค้าชุมชนของเราด้วยมือของเรา ด้วยความรู้ด้วยปัญญาที่เราได้มา


วางแผน ต่อยอด ช่วยเหลือ ยั่งยืน

ในชุมชนของเรายังมีกลุ่มคนไม่มีที่ดินทำกิน ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่แบบไปเช้าเย็นกลับและกลุ่มคนที่มีหนี้สินขั้นวิกฤติขาดการชำระหนี้ ทางกลุ่มของเราจะมีพื้นที่ที่เราเรียกว่า แปลงพอเพียง ให้คนกลุ่มดังกล่าวได้มาสร้างอาชีพทำเกษตรปลูกพืชผักที่สามารถสร้างรายได้ภายใน 45 วัน โดยใช้หลักการเดียวกับร้านค้าชุมชนของเราคือแบ่งพืชผักบางส่วนจากการขายให้พ่อค้าคนกลางแล้วนำมาวางขายที่ร้านค้าชุมชน เพื่อให้คนเหล่านี้มีโอกาสนำรายได้มาแบ่งเบาในชีวิตประจำวันอีกทางหนึ่งอีกด้วย


คุณศุภชัย เทพบุตร เกษตรกรนักทำมา(และ)ค้าขาย(เป็น) ร้านชุมชนดีมีรอยยิ้มบ้านห้วยปลาดุก แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

8 views0 comments

Comments


bottom of page