top of page

เกษตรกรมือขยัน เปลี่ยนดินแห้งแล้งให้เป็นรางวัลที่หนึ่ง

Updated: Jul 31, 2023

เกื้อกูลLEs จิราภรณ์ บางยิ้ม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนโก จังหวัดกำแพงเพชร



โควิด-19 ยังร้ายอยู่ ช่วงปี 2563 ในขณะที่ทุกคนได้รับผลกระทบจากวิกฤติของโควิด-19 เรามีโอกาสได้รับทุนและเรียนรู้การบริหารการเงินจากโครงการธุรกิจปันกัน เรานำความรู้นั้นมาปรับใช้กับสวนของเราทันทีเพื่อแก้ไขสถานการณ์การเงินของเราในตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนรอบการผลิตเพื่อให้มีรายรับเข้ามาตลอด การวางแผนการลงทุน การจัดการพื้นที่สวนของตนเอง โดยเราใช้ทุนจากโครงการธุรกิจปันกันค่อยๆ เติมความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ลงไปในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นต้นมะพร้าว กล้วยไข่ มะละกอ ทุเรียน พืชผักสวนครัวต่างๆ อีกทั้งยังได้เพิ่มระบบน้ำเข้าไปในสวน ซึ่งเมื่อก่อนจะลำบากมากไม่สามารถดูแลพืชผักที่ปลูกได้ทั้งหมดทำให้มีเสียหายล้มตายไปเป็นจำนวนมาก พอพืชพันธุ์ต่างๆ เริ่มงอกงาม เริ่มมีผลผลิตและนำไปขายตามรอบที่เราวางแผน เริ่มมีรายได้เข้ามา ทำให้เรารู้สึกว่าเราตั้งตัวได้ เราสู้วิกฤติครั้งนี้ได้


"...เรารู้สึกว่าโอกาสต่างๆ ที่เราได้รับและสิ่งที่เริ่มเอาไว้ตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 มันพอมีแสงสว่าง พอมีทางให้เราตั้งตัวและเดินต่อได้ มันคือ “รางวัลที่หนึ่ง” สำหรับเราและคนใน วิสาหกิจชุมชน..."

แสงสว่างและทางรอดคือขายที่ดิน เราเป็นผู้รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรออกไปขายตามงานต่างๆ พอช่วงโควิด-19 กำลังทวีความรุนแรงขึ้นสถานที่จัดงานที่เราจองเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด งานวัด หลายๆ ที่ มีการยกเลิกกระทันหัน ทำให้ทุนของเราจมหายไปกับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ขาดรายได้โดยสิ้นเชิง พอกลับมาที่บ้านเราใช้ชีวิตโดยคาดหวังว่าโควิด-19 จะไม่รุนแรงยืดเยื้อ ปรากฏว่าสามเดือนเต็ม ที่เราไม่มีรายได้ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ก็ยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนปรึกษากันว่าจะขายที่ดินเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในภาวะการณ์ที่ไม่รู้เลยว่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ พอตั้งสติได้ก็เริ่มหาทางออกให้กับครอบครัว ประจวบกับมีมะม่วงสุกจากสวนคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงแผ่นขายเพื่อนำรายได้เข้ามาก่อน ต้นพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้วย ลิ้นจี่ ลำใย ทุเรียน ที่เราซื้อมาขายก็ต้องนำมาปลูกที่สวนแทน



เปลี่ยนมือขี้เกียจให้เป็นมือขยัน

เราดูข่าวสารคดีที่ในหลวงท่านทรงงานพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง พระองค์ท่านทรงเหนื่อยพระวรกายอย่างไม่ท้อถอยจนสามารถเปลี่ยนความแห้งแล้งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เราก็เริ่มจุดประกาย พอพืชผลที่เราปลูกไว้เริ่มงอกงาม กอปรกับทางพัฒนาชุมชนเองก็สนับสนุนเราจากโครงการโคกหนองนา เราก็มีกำลังใจพัฒนาสวนของเราต่อ โครงการขายที่ดินก็ถูกพับเอาไว้ลึกสุดในลิ้นชักของเราในที่สุด


เมื่อวิกฤติโควิด-19 เริ่มมีการปลดล็อค ตลาดก็เริ่มกลับมาขายของกัน โดยจะเก็บเกี่ยวพืชผักในสวนไปวางขายที่ตลาดเกษตรในตัวเมืองกำแพงเพชรทุกเช้าวันศุกร์และวันอาทิตย์ ส่วนวันเสาร์อาทิตย์แรกของเดือนจะเดินทางไปขายที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นวนคร ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ เราจะรวบรวมของจากสวนตนเองและสวนของสมาชิกกลุ่มไปด้วย เรารู้สึกว่าโอกาสต่างๆ ที่เราได้รับและสิ่ง ที่เริ่มเอาไว้ตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 มันพอมี แสงสว่าง พอมีทางให้เราตั้งตัวและเดินต่อได้ มันคือ “รางวัลที่หนึ่ง” สำหรับเราและคนใน วิสาหกิจชุมชน


75 views0 comments

© 2020 สถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน
Institute for Local Economy Foundation

bottom of page